ผลงานด้านการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ผลงานด้านการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ผลงานด้านการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

โครงการการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล

จากการที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ปัญหาความเดือดร้อนในหลายช่องทางอาทิเช่น  การร้องทุกข์ ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  การมีหนังสือร้องทุกข์ส่งทางไปรษณีย์ การร้องทุกข์ทางโทรสาร  ทางโทรศัพท์  ทางเว็บไซต์ ฯลฯ จึงทำให้ประชาชนร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือถึงปีละ 20,000 เรื่อง    ด้วยเหตุนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ฟีโบ้ศึกษาออกแบบศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ใช้ประโยชน์จากการบูรณาการเทคโนโลยีอันทันสมัย  อาทิเช่น  เทคนิคการจัดฐานข้อมูล  เทคโนโลยี Call Center เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และระบบอัตโนมัติ เพื่อขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

โครงการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ปีพ.ศ. 2548

ฟีโบ้ได้รับความไว้วางใจจาก สคบ. และได้มอบหมายงานให้เป็นที่ปรึกษาออกแบบและจัดสร้างโครงการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของ สคบ. ให้สามารถดำเนินงานบนระบบฐานข้อมูลกลางที่มีประสิทธิภาพ และสามารถบริการประชาชนด้วยระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Services)   มุ่งสู่การเป็น E-Government ตามนโยบายของรัฐบาล งานที่ฟีโบ้ ดำเนินการคือการพัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดภาระการทำงานแบบกระดาษที่ใช้ระยะเวลานาน โดยการนำระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ (Work Flow) มาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ซึ่งจะทำให้งานสามารถเดินทางตามขั้นตอนได้โดยไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่ ช่วยให้การทำงานของ สคบ. มีความรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยการติดต่อ สคบ. ผ่านทางเว็บไซต์ ( Web Service) ที่เปิดบริการให้ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูล รับเรื่องร้องเรียนแบบออนไลน์ ติดตามผลการดำเนินการ ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้บริโภคกับองค์กรต่างๆ

โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำโครงการการพัฒนาระบบการช่วยเหลือประชาชนยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน : EMS (Emergency Medical Service System) ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2544  โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านแผนที่ได้ก้าวหน้ามาก  ดังนั้นจึงควรทำการปรับปรุงระบบสารสนเทศของโครงการ EMS  เพื่อส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ สำหรับการดำเนินงานของโครงการ  สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) รับเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาระบบได้แก่ (1) ระบบจัดการแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (2) ระบบ GPRS  ใช้ในการสื่อสารข้อมูลไร้สายในรูปแบบของข้อมูลตัวอักษร เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เพื่อส่งข้อมูลที่จำเป็นในระบบ EMS  (3) ระบบ GPS ใช้ในการระบุตำแหน่งของรถฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทราบตำแหน่งปัจจุบันของรถ และตัดสินใจส่งรถคันที่เหมาะสมไปรับผู้ป่วย (4) ระบบจัดการผ่าน Web base บนอินเตอร์เน็ตทำให้สามารถเรียกข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ในประเทศไทย (5) ระบบการเงินและการเบิกจ่าย เชื่อมต่อกับโปรแกรมการเงิน ของ สปสช

โครงการที่ปรึกษาเพื่อเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบGFMIS-SOE ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ด้วยภารกิจซึ่งทาง สคร. ต้องทำการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างรัฐวิสาหกิจต่างๆ และระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับข้อมูลรัฐวิสาหกิจ (GFMIS-SOE) สำหรับการตัดสินใจที่มีความครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัยและรวดเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริหารสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาในการนำข้อมูลจากฐานข้อมูล GFMIS-SOE มาทำการวิเคราะห์สถานะและประสิทธิผลของรัฐวิสาหกิจต่างๆ เนื่องจากข้อมูลจากรัฐวิสาหกิจเข้ามาล่าช้าและไม่ครบถ้วน ประกอบกับการนำข้อมูลออกจากฐานข้อมูล GFMIS-SOE มาทำการวิเคราะห์มีความล่าช้าและไม่ทันเวลา

ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จึงได้รับมอบหมายให้นำเสนอแนวทางการแก้ไขและให้คำปรึกษา ในการออกแบบและแนะนำวิธีการปรับปรุงโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้การทำงานของโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในเบื้องต้นสถาบันได้ทำการออกแบบรูปแบบการนำเข้าข้อมูลของรัฐวิสาหกิจให้มีความรวดเร็วและมีความถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม ตามความต้องการในขอบเขตการจ้างที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สคร. ทั้งนี้ในโครงการได้มีรัฐวิสาหกิจที่เข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องจำนวน 5 แห่งในโครงการระยะที่ 1 และอีกจำนวน 10 แห่งในโครงการระยะที่ 2

โครงการงานติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำระยะไกล

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เห็นว่า ประตูระบายน้ำที่กรมชลประทานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ปัจจุบันยังขาดอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการบริหารประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะใช้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นผู้บริหารประตูระบายน้ำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้การบริหารประตูระบายน้ำไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้ ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ดำเนินงานออกแบบและจัดสร้าง รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำระยะไกล จำนวน 70 บาน ในพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถควบคุมประตูระบายน้ำได้จากระยะไกล หรือทำงานภายใต้เงื่อนไขได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำอย่างทันท่วงที และใช้ประตูระบายน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพได้ยิ่งขึ้น

โครงการพัฒนาระบบควบคุมเรือสำรวจระยะไกลและระบบสร้างภาพสามมิติของสภาพแวดล้อม

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้นำเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ที่เรียกว่า “Robotic Mapping” มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจเพื่อหยั่งความลึก โดยเน้นที่การพัฒนาระบบควบคุมและติดตามเรือจากระยะไกลเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล รวมถึงการพัฒนาระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ (เช่น ภาพ 3 มิติของตลิ่ง ท้องน้ำ และสิ่งก่อสร้างตามแนว) ซึ่งจะนำไปสู่การสำรวจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งทางด้านความถูกต้องของข้อมูลและความสะดวกในการปฏิบัติงาน รวมถึงยังเป็นการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง นอกจากนี้ ในอนาคต ระบบที่ว่ายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านอื่นๆ ได้อีก อาทิเช่น การทำแผนที่ 3 มิติของสิ่งก่อสร้างและพื้นดิน เพื่อศึกษาระดับน้ำท่วม การสำรวจท้องน้ำตามแนวชายฝั่ง เพื่อการจัดการทรัพยากร การสำรวจไฟป่า เป็นต้น