ประวัติความเป็นมา
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ระหว่างแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 7 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีมติยกวิทยฐานะของศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม เป็น “สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม” โดยมีหน้าที่วิจัยพัฒนา ให้บริการวิทยาการแก่สังคม เปิดสอนหลักสูตรที่มีความสามารถเฉพาะทางและมอบปริญญาได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2538 ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม โดย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา มีพันธกิจด้านการพัฒนางานวิจัย และบริการวิชาการ
2543 ผลักดันการจัดตั้งสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย (Thai Robotic Society: TRS) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์แก่บุคคลทั่วไป สร้างเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการในระดับอุดมศึกษา ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยและเกิดการแข่งขันหุ่นยนต์ต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย
2545 ริเริ่มจัดแข่งขันหุ่นยนต์รายการแรก โดยฟีโบ้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOT CONTEST การแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
2546 ได้รับการยกวิทยฐานะเป็น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม โดยมีหน้าที่วิจัยพัฒนา ให้บริการวิชาการแก่สังคม เปิดสอนและให้ปริญญาหลักสูตรที่มีความสามารถเฉพาะทาง
2546 เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นที่แรกของไทย
2547 เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม
2548 บัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จบการศึกษาเป็นรุ่นแรก
2549 จัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านการผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในเชิงวิชาการและวิจัย นำสู่การวิจัยเชิงพาณิชย์ เกิดการนำองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาบุคลากรทั้งในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ยกระดับประเทศไทยจากประเทสที่รับผลิต เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิต คงความเป็นประเทศที่ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับ 1
2551 นำทัพจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทย (พ.ศ.2551-2555)
2552 เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2552 ขยายพื้นที่การเรียนการสอนไปยัง อาคารสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ 80 พรรษา มูลนิธิไทยคม ชั้น 14
2554 ปรับปรุงหลักสูตรสาขาการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมใหม่ และเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นธุรกิจเทคโนโลยี
2555 ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2556 เปิดหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมกับ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาธุรกิจเทคโนโลยี
2556 พัฒนาหลักสูตรใหม่วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2557 เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทำให้มีการสอนสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ครบทั้ง ตรี-โท-เอก เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
2557 เปิดใช้อาคารใหม่ อาคารปฏิบัติการพื้นฐาน สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
2557 ดำเนินโครงการศึกษาความต้องการบุคลากรและเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทย
2559 นิทรรศการ “20th Anniversary Professional Robot Maker: เหลียวหลังมองอดีต มุ่งหน้าสู่อนาคต” ในโอกาสครบ 20 ปี แห่งการก่อตั้งฟีโบ้
2560 ผลักดันการรวมกลุ่ม Robotic Cluster จนเกิดการรวมตัวกันของ SI ไทย เป็นสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) และการรวมตัวของสถาบันการศึกษา จัดตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) เพื่อสนับสนุนกลไกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
2562 จัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Technology Roadmap) สำหรับศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) ภายใต้การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi)
2563 นิทรรศการ “25th Anniversary: Robotics of Thailand, robotics for Thailand” ในโอกาสครบ 25 ปี แห่งการก่อตั้งฟีโบ้
การดำเนินงานของฟีโบ้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ความสามารถเชิงวิชาการในสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความเป็นผู้นำในสหวิทยาการ ทั้งทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งด้านธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องและส่งเสริมกับสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยที่กำลังเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง