ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ "มดบริรักษ์" ชุดแรก ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ “มดบริรักษ์” ชุดแรก ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

ฟีโบ้ มจธ. ส่งมอบ “มดบริรักษ์” ชุดแรก ประจำการช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยมิตร ศรีธราคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ รับมอบ “มดบริรักษ์” ชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธานในการส่งมอบ

“มดบริรักษ์” นามพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (หรือชื่อเดิม “FIBO AGAINST COVID-19: FACO”) ชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุมที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยความตั้งใจที่ต้องการนำหุ่นยนต์ให้ทีมแพทย์ พยาบาล ใช้สนับสนุนการตรวจรักษาผู้ป่วยที่พักรักษาตัวด้วยโรค COVID-19 และพบปัญหาด้านการสื่อสารและการเข้าให้การดูแล

ภายหลังจากการรับมอบ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยมิตร ศรีธรา ได้ชมการสาธิตการทำงานของนวัตกรรมชุดระบบหุ่นยนต์ฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการมดบริรักษ์ และทีมพัฒนานำชมพร้อมให้ข้อมูล

“มดบริรักษ์” เริ่มออกแบบพัฒนาระบบประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 โดยนำเอาเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในฟีโบ้มาพัฒนาต่อยอด ใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ ต้นแบบหุ่นยนต์ชุดแรกก็จัดสร้างแล้วเสร็จ โดยเมื่อนำเสนอต่อทีมแพทย์เพื่อให้ทดลองใช้งานก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีมาก ด้วยการสั่งการหุ่นยนต์สามารถทำได้สะดวก หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งมีระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ลดการทำงานซ้ำซ้อน ทำให้ขณะนี้มีโรงพยาบาลกว่า 20 แห่ง ส่งหนังสือมาถึงฟีโบ้เพื่อขอให้ทำการติดตั้งระบบหุ่นยนต์

สำหรับโรงพยาบาลที่จะทำการติดตั้งชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ในลำดับต่อไป ได้แก่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า (ในเดือนพฤษภาคม) โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลในพื้นที่อีอีซี อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลระยอง (ในเดือนมิถุนายน)  พร้อมกันนี้ ฟีโบ้จะเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing ให้กับบริษัทเอกชน ในสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตตามความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

ในอนาคตฟีโบ้วางแผนนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมความสามารถของชุดหุ่นยนต์โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ทำการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ พัฒนาระบบ Teleconference ระบบบันทึกภาพ ควบคุมบริหารจัดการหุ่นยนต์จากส่วนกลางบนคลาวน์ นอกจากนี้มีแผนพัฒนาระบบ IoT กับอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อใช้ในการบันทึกสัญญาณชีพ และจัดทำเป็นระบบวิเคราะห์ด้วย AI ซึ่งจะต่อโดยตรงกับ Genomics Platform ในพื้นที่อีอีซี

 

Categories: กิจกรรมฟีโบ้,ข่าวและกิจกรรม