Global innovation index - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

Global innovation index

8

ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงัน (stagnation) คือการที่เศรษฐกิจมันหยุดนิ่งกับที่ การบริโภคลดลง การท่องเที่ยวก็น้อยลง เพราะคนไม่มีเงิน ส่วนคนมีเงินก็ไม่รู้จะนำเงินที่มีไปทำอะไร หนึ่งในคำตอบดีที่สุดที่จะทำให้เราหลุดออกจากสภาวะนี้ได้คือ นวัตกรรม (Innovation) หรือในความหมายคือการสร้างสินค้าหรือบริการที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น หลายประเทศต้องการที่จะสร้างวัฒนธรรมในการสร้างนวัตกรรม บลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้จัดทำอันดับของประเทศในโลกเรียกว่า the world’s 50 most innovative countries ranking โดยวัดจากมิติต่าง ๆ 6 ด้านด้วยกันคือ การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ความสามารถในการผลิต (Manufacturing) จำนวนบริษัทไฮเทค (Hi-tech companies) การศึกษาขั้นสูง (Postsecondary education) จำนวนนักวิจัย (Research Personnel) และจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา (Patents) และผลรวมของความสามารถในมิติต่าง ๆ นำมาจัดอันดับท๊อป 50 ประเทศที่ได้อันดับที่ 1 คือ เกาหลีใต้ อันดับต่อมาคือ ญี่ปุ่น เยอรมันนี ฟินแลนด์ และอิสราเอล ตามลำดับ เห็นได้ว่า เกาหลีใต้ติดอันดับ 1 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมประเทศเขาถึงได้ขึ้นอันดับหนึ่ง จะเห็นจากการที่เราได้รับอิทธิพลทางด้านสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ จากเกาหลีใต้ ยกตัวอย่างได้คือสินค้าดิจิตัลหลากหลายรูปแบบจาก Samsung เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย ติดอันดับที่ 46 และกลุ่มประเทศ AEC ที่อยู่ในอันดับมี สิงคโปร์ (8) และมาเลเซีย (27)

ที่นี้มาดูกันว่ามิติต่าง ๆ ที่นำมาใช้พิจารณาด้านการวิจัยและพัฒนาวัดจากงบประมาณที่ใส่ลงไปในการวิจัยและพัฒนาในอัตราส่วนเท่าไหร่ต่อ GDP มิติความสามารถด้านการผลิตดูจากมูลค่าเพิ่มที่ใส่เข้าไปในตัวสินค้า จำนวนบริษัทไฮเทคที่ตั้งอยู่ในประเทศ การศึกษาเพิ่มเติมจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนนักวิจัย รวมไปถึงนักศึกษาปริญญาเอกที่อยู่ในกลุ่มงานวิจัยต่อประชากร 1 ล้านคน จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่ขึ้นทะเบียนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อมาดูประเทศไทยเป็นที่น่ากังวลคือ ไทยอยู่อันดับท้ายสุดที่ที่ 50 ในมิติด้าน R&D และจำนวนนักวิจัยต่อประชากร 1 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมต่ำมากหรืออาจจะสร้างได้ในวงจำกัด

เมื่อขาดงานนวัตกรรมที่ควรจะออกมาจากงานวิจัย ส่งผลสะท้อนไปถึงปริมาณการเกิด Entrepreneur หรือผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมค่อนข้างน้อยเพราะเราไม่มีพื้นฐานเพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ หากเราต้องการให้เกิดผู้ประกอบการหรือนวัตกรรมที่ไปกับสินค้าหรือบริการจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนหรือเกื้อกูลกันให้เกิดผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เพื่อนักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นสามารถนำผลงานของตนสู่สังคม สังคมไทยในปัจจุบันได้หล่อหลอมเอาเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนวัตกรรมทางด้านดิจิตัลไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการหากตอบโจทย์หรือความต้องการของสังคมก็จะไปได้ด้วยดี อีกทั้งรัฐควรจะต้องมองให้เห็นว่ารากฐานของการเกิดนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นมาจากอะไร ถ้ามองเห็น ประเทศไทยจะกลายเป็นเกาหลีใต้ได้หรือไม่ในมุมมองของการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก นั่นเป็นสิ่งที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันสร้างกรอบความคิด (mindset) ในการสร้างนวัตกรรม ผลักดันและฟูมฟักให้เกิดสังคมของนวัตกรรม

ที่มาของ Ranking: http://www.bloomberg.com/graphics/2015-innovative-countries/

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร. 0-2470-9715-6
http://fibo.kmut.ac.th/
Facebook: FIBOKMUTT และ TEPKMUTT