ความร่วมมือ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม – สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ความร่วมมือ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม – สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนางานวิจัยที่มีผลกระทบสูง ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการนำความรู้ของบุคลากรและนวัตกรรมมาสนับสนุนการทำงาน/การแก้ปัญหา เพื่อการพัฒนาประเทศ ทำให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ฟีโบ้ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับประเทศ ด้วยประสบการณ์ ทักษะ และองค์ความรู้ของบุคลากร ทำให้ฟีโบ้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานโครงการต่าง ๆ เช่น

 

8-1

โครงการจัดสร้างอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดบานระบายน้ำแบบอัตโนมัติ ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เสริมการทำงานเข้ากับระบบควบคุมประตูระบายน้ำ ให้สามารถควบคุมได้จากระยะไกล หรือทำงานภายใต้เงื่อนไขได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารประตูระบายน้ำอย่างทันท่วงที และใช้ประตูน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสียให้กับคลองสายต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ คลองสนามชัย-คลองมหาชัย (ดำเนินงานแล้ว 14 บาน ในปี 2551) ปัจจุบัน (ปี 2555) ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิด บานประตูระบายน้ำเพิ่มเติม จำนวน 70 บาน ในพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล

8-2

จากมหาอุทกภัยปี 2554 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือ ศปภ. ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อเร่งระบายน้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเขตกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ ประกอบกับขาดข้อมูลที่ครบถ้วนในการประเมินศักยภาพระดับท้องน้ำในลำน้ำที่เป็นทางระบายน้ำลงสู่ทะเล ทำให้การประเมินความสามารถในการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น สสนก. จึงมอบหมายให้ ฟีโบ้ ดำเนินโครงการสำรวจเพื่อหยั่งความลึกทางน้ำของคลองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายใต้โครงการสำรวจระดับแม่น้ำและคลองสายสำคัญ ซึ่งได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานจากทีมบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินการพัฒนาการสำรวจข้อมูลระดับคลอง ระดับความลึกท้องน้ำ และระดับตลิ่งของคลองและแม่น้ำสายต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและประเมินการรับมือภัยพิบัติในอนาคต 

8-3นอกจากโครงการข้างต้น ฟีโบ้ยังได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีการบิน ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (มจธ.) ดำเนินงานออกแบบและสร้างอากาศยานไร้นักบินขนาดเล็ก (UAV) เพื่อช่วยในการสำรวจพื้นที่จากที่สูง และได้นำ UAV ขึ้นบินสำรวจพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่ผ่านมา

 

ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจ สสนก. จึงได้มอบหมายให้ฟีโบ้ดำเนินงานจัดสร้างอากาศยานไร้นักบิน สำหรับการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เพิ่มอีก 2 ลำ โดยลำที่หนึ่งเน้นงานการทำแผนที่ และอีกหนึ่งลำเน้นการสำรวจระยะไกล มีกำหนดส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ ในปี 2556

 

นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้มอบหมายให้ฟีโบ้ดำเนินโครงการพัฒนาและสร้างอากาศยานไร้นักบินสำหรับการทำแผนที่ (UAV for Aerial Mapping) ภายใต้โครงการสำรวจระดับแม่น้ำและคลองสายสำคัญด้วยอีก 1 ลำ โดยการนำเทคโนโลยี UAV ที่มีอยู่ในประเทศ มาปรับให้สามารถรองรับภารกิจการทำแผนที่เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ภายในโครงการพัฒนาความร่วมมืองานศึกษาวิเคราะห์และประมวลข้อมูลด้านการจัดการน้ำของ สสนก. ฟีโบ้ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบลำเลียงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างละอองฝุ่นในอากาศจากสถานีเสาสูงตรวจอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศในเขตเมือง โดยฟีโบ้ได้เสนอแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกในการปฎิบัติงานและลดความเสี่ยงจากการใช้มนุษย์ในการทำงาน นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาระบบควบคุมเรือสำรวจระยะไกล และระบบสร้างภาพสามมิติของสภาพแวดล้อม เป็นการนำเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ที่เรียกว่า “Robotic Mapping” มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจเพื่อหยั่งความลึก เน้นการพัฒนาระบบควบคุมและติดตามเรือจากระยะไกลเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล รวมถึงการพัฒนาระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ (ภาพ 3 มิติ ของตลิ่ง ท้องน้ำ และสิ่งก่อสร้างตามแนว) นำไปสู่การสำรวจที่มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านความถูกต้องของข้อมูลและความสะดวกในการปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย

Categories: ข่าวและกิจกรรม